ด้วยความสะเพร่า ของช่าง ได้เจาะเลขแชสชี รถหายไป 2 ตัว
ถ้าปล่อยไว้ไม่ทำอะไรเลย อนาคต เจอปัญหาอะไรบ้างครับ
แล้วถ้าไปแก้ที่ขนส่ง มันจะมีปัญหาอะไรอีกมั้ย
สอบถามไว้ก่อนครับ
ระเบียบกรมการขนส่งทางบก
ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดและตอกเลขตัวรถและเลขเครื่องยนต์
สำหรับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๕๔
_______________
ตามที่ได้มีระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดและตอกเลขตัวรถและเลขเครื่องยนต์สำหรับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๔๙ ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ไว้แล้ว นั้น
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงชื่อตำแหน่งและชื่อหน่วยงานที่มีการอ้างถึงในระเบียบให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน ประกอบกับได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬขึ้นใหม่ ทำให้มีความจำเป็นต้องกำหนดรหัสประจำจังหวัดสำหรับใช้ในการตอกเลขตัวรถและเลขเครื่องยนต์ของจังหวัดดังกล่าวขึ้นเป็นการเพิ่มเติม อธิบดีกรมการขนส่งทางบกจึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดและตอกเลขตัวรถและเลขเครื่องยนต์สำหรับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๕๔”
ข้อ ๒ ให้ยกเลิกระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดและตอกเลขตัวรถและเลขเครื่องยนต์สำหรับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๔๙
บรรดาระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ หรือคำสั่งอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ ๓ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไป
ข้อ ๔ ในระเบียบนี้
“เลขตัวรถ” หมายความว่า เลขคัสซีสำหรับรถที่มีโครงคัสซีหรือเลขตัวถังสำหรับรถที่ไม่มีโครงคัสซี
“เจ้าของรถ” หมายความว่า ผู้มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถ และให้หมายความรวมถึงผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถนั้นด้วย
ข้อ ๕ ให้รองอธิบดี (ฝ่ายปฏิบัติการ) กรมการขนส่งทางบก รักษาการตามระเบียบนี้
หมวด ๑
การกำหนดและตอกเลขตัวรถ
_______________
ข้อ ๖ รถดังต่อไปนี้ต้องกำหนดและตอกเลขตัวรถ
(๑) ไม่มีเลขตัวรถจากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเจ้าของรถมีหลักฐานการได้มาถูกต้อง และมีบันทึกรับรองหรือให้ถ้อยคำว่าเป็นรถคันเดียวกับที่ปรากฏตามหลักฐาน ทั้งนี้ ถ้าพบร่องรอย
-๒-
การเจียรไส เชื่อมทับ หรือโดยวิธีอื่น ที่ผิวโลหะบริเวณตำแหน่งที่เป็นเลขตัวรถโดยน่าเชื่อว่ามีการทำลายเลขเดิมให้ส่งกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจหรือศูนย์พิสูจน์หลักฐาน ๑ – ๑๐ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบและยืนยันความถูกต้อง
(๒) มีเลขตัวรถตอกไว้บนแผ่นโลหะ (plate) แต่ได้ชำรุด ลบเลือน หรือสูญหาย และเจ้าของรถมีบันทึกรับรองหรือให้ถ้อยคำว่าเป็นรถคันเดียวกับที่ปรากฏตามหลักฐาน
(๓) มีเลขตัวรถ แต่ชำรุด ลบเลือน หรือถูกทำลายเนื่องจากสนิมกัดกร่อน อุบัติเหตุ หรือด้วยเหตุอื่นใดโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และเจ้าของรถมีบันทึกรับรองหรือให้ถ้อยคำว่าเป็นรถคันเดียวกับที่ปรากฏตามหลักฐาน
ในกรณีที่ไม่สามารถวินิจฉัยความถูกต้องของรถได้ว่าเป็นรถคันเดิม ให้ส่งกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ หรือศูนย์พิสูจน์หลักฐาน ๑ – ๑๐ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ผลิต หรือผู้ประกอบรถตรวจสอบและยืนยันความถูกต้อง
(๔) มีเลขตัวรถแต่ภายหลังมีการเปลี่ยนชิ้นส่วนของตัวถังหรือโครงคัสซีที่มีเลขตัวรถตอกอยู่ โดยชิ้นส่วนที่เปลี่ยนใหม่นั้นไม่มีหมายเลข และเจ้าของรถมีหลักฐานการได้มาถูกต้อง พร้อมทั้งมีบันทึกรับรองหรือให้ถ้อยคำว่าเป็นรถคันเดียวกับที่ปรากฏตามหลักฐาน ทั้งนี้ ถ้าพบร่องรอยการเจียรไส เชื่อมทับ หรือโดยวิธีอื่น ที่ผิวโลหะบริเวณตำแหน่งที่เป็นเลขตัวรถโดยน่าเชื่อว่ามีการทำลายเลขเดิม ให้ส่งกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ หรือศูนย์พิสูจน์หลักฐาน ๑ – ๑๐ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบและยืนยันความถูกต้อง
(๕) มีเลขตัวรถแต่ถูกทำลายหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงทั้งหมดหรือบางส่วนเพราะเหตุโจรกรรม โดยเจ้าของรถมีหลักฐานการรับรถคืนจากพนักงานสอบสวนหรือศาล พร้อมทั้งมีบันทึกรับรองหรือให้ถ้อยคำว่าเป็นรถคันเดียวกับที่ปรากฏตามหลักฐานว่าเป็นรถคันเดิมที่ถูกโจรกรรมไป
ในกรณีที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นรถคันเดิม ให้ส่งกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ หรือศูนย์พิสูจน์หลักฐาน ๑ – ๑๐ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ผลิตหรือ ผู้ประกอบรถ ตรวจสอบและยืนยันความถูกต้อง
(๖) มีเลขตัวรถแต่ถูกทำลายหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งเป็นรถที่ได้มาจากการจำหน่ายของส่วนราชการ หรือการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมาย เช่น กรมศุลกากรหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น โดยมีหลักฐานการได้มาจากส่วนราชการนั้นถูกต้อง พร้อมทั้ง มีบันทึกรับรองหรือให้ถ้อยคำว่าเป็นรถคันเดียวกับที่ปรากฏตามหลักฐาน
ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องของรถ อาจขอให้ส่วนราชการที่จำหน่ายหรือขายทอดตลาดรถจัดส่งเอกสารรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้
(๗) มีเลขตัวรถแต่ซ้ำซ้อนกับรถคันอื่นที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก หรือตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ทั้งนี้ การซ้ำซ้อนนั้นต้องปรากฏหลักฐานการจดทะเบียนรถ หรือมีหลักฐานการได้มาถูกต้อง ให้พิจารณากำหนดและตอกเลขตัวรถให้กับรถคันที่จดทะเบียนหรือดำเนินการทางทะเบียนลำดับหลัง เว้นแต่ไม่สามารถติดตามรถคันที่จดทะเบียนหรือดำเนินการทางทะเบียนลำดับหลังได้ และเจ้าของรถที่จดทะเบียนหรือดำเนินการทางทะเบียนลำดับก่อนยินยอมให้กำหนดและตอกเลขตัวรถให้กับรถคันที่จดทะเบียนหรือดำเนินการทางทะเบียนลำดับก่อนได้
ในกรณีไม่สามารถดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้ เนื่องจากมีเหตุขัดข้องอื่นๆ เช่น มีวัน จดทะเบียนวันเดียวกัน เป็นต้น ให้นายทะเบียนพิจารณากำหนดและตอกเลขตัวรถให้กับรถคันใดคันหนึ่ง ที่เห็นสมควรตามความเหมาะสม
-๓-
ข้อ ๗ หลักเกณฑ์การกำหนดเลขตัวรถประกอบด้วยตัวเลข ๓ กลุ่ม ดังนี้
(๑) กลุ่มที่หนึ่ง มี ๒ หลัก เป็นรหัสจังหวัดที่รถจดทะเบียนหรือจะจดทะเบียน กรณีเป็นสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสำนักงานขนส่งจังหวัดสาขา ให้กำหนดเป็น ๓ หลัก โดยเลข ๒ หลักแรกเป็นรหัสจังหวัด และเลขหลักที่ ๓ เป็นเลขลำดับที่จัดตั้งสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสำนักงานขนส่งจังหวัดสาขาก่อนหลัง แล้วแต่กรณี เว้นแต่กรณีจังหวัดหนองบัวลำภูและจังหวัดบึงกาฬให้กำหนดตัวเลขกลุ่มที่หนึ่ง มี ๓ หลัก และสำนักงานขนส่งจังหวัดสาขาของจังหวัดดังกล่าว ให้กำหนดเป็น ๔ หลัก โดยเลข ๓ หลักแรกเป็นรหัสจังหวัด และเลขหลักที่ ๔ เป็นเลขลำดับที่จัดตั้งสำนักงานขนส่งจังหวัดสาขาก่อนหลัง
(๒) กลุ่มที่สอง มี ๓ หลัก เป็นเลขลำดับก่อนหลังที่ทำการตอกในแต่ละปี
ถ้าปีใดมีจำนวนรถที่ต้องตอกเกินกว่า ๓ หลัก ลำดับที่เกิน ๓ หลักให้ตอกเป็นเลข ๕ หลัก
(๓) กลุ่มที่สาม มี ๒ หลัก เป็นเลขสองตัวสุดท้ายของปี พ.ศ. ที่ทำการตอกเลข
การกำหนดเลขรหัสจังหวัดในการตอกเลขตัวรถ ให้กำหนดตามเลขรหัสประจำจังหวัด ท้ายระเบียบนี้
ข้อ ๘ ตำแหน่งและลักษณะการตอกเลขตัวรถ
(๑) ให้ตอกที่โครงคัสซีบริเวณหน้าล้อหน้าด้านซ้าย หรือบริเวณอื่นที่เหมาะสม ในกรณีเป็นรถที่ไม่มีโครงคัสซีให้ตอกที่บริเวณเบ้าโช้คอัพหน้าด้านซ้ายของตัวถังรถ หรือในตำแหน่งอื่นที่เหมาะสม
(๒) ให้ใช้ตัวเลขอารบิคที่มีขนาด ๘ มิลลิเมตร หรือขนาดใกล้เคียง และให้ตอกเรียงลำดับกลุ่มตามแนวนอน เว้นแต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นให้ตอกตามแนวตั้งหรือตามความเหมาะสม
ข้อ ๙ เมื่อทำการตอกเลขแล้ว ให้พนักงานตรวจสภาพดำเนินการดังนี้
(๑) จัดทำทะเบียนคุมการตอกเลขตัวรถ โดยให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับหมายเลขทะเบียนรถ ชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือเจ้าของรถ หมายเลขที่ตอก ตำแหน่ง วันเดือนปีที่ตอก ชนิดรถ และลอกลายเลขที่ตอกติดไว้ในทะเบียนคุมการตอกเลข พร้อมทั้งลงลายมือชื่อผู้กำหนดและตอกเลขกำกับไว้ด้วย
(๒) บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่ง วันเดือนปีที่ตอก ในประวัติรถ พร้อมทั้งลอกลายเลขที่ตอกติดไว้และลงลายมือชื่อผู้กำหนดและตอกเลขกำกับไว้ในประวัติรถ และบันทึกข้อมูลลงในระบบคอมพิวเตอร์
หมวด ๒
การกำหนดและตอกเลขเครื่องยนต์
_______________
ข้อ ๑๐ กรณีดังต่อไปนี้ ต้องกำหนดและตอกเลขเครื่องยนต์
(๑) เครื่องยนต์สำหรับรถที่ไม่มีหมายเลขจากผู้ผลิต ซึ่งเจ้าของมีหลักฐานการได้มาถูกต้อง และได้มีบันทึกรับรองหรือให้ถ้อยคำว่าเป็นเครื่องยนต์เดียวกับที่ปรากฏตามหลักฐาน ทั้งนี้ ถ้าพบร่องรอยการเจียรไส เชื่อมทับ หรือโดยวิธีอื่น ที่ผิวโลหะบริเวณตำแหน่งที่เป็นเลขเครื่องยนต์โดยน่าเชื่อว่ามีการทำลายเลขเดิม ให้ส่งกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ หรือศูนย์พิสูจน์หลักฐาน
๑ – ๑๐ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบและยืนยันความถูกต้อง
(๒) รถที่เครื่องยนต์มีหมายเลขกำหนดไว้บนแผ่นโลหะ (plate) แต่ชำรุด ลบเลือน หรือสูญหาย และเจ้าของรถได้มีบันทึกรับรองหรือให้ถ้อยคำว่าเป็นเครื่องยนต์เดียวกับที่ปรากฏตามหลักฐาน
-๔-
(๓) รถที่เลขเครื่องยนต์ชำรุด ลบเลือน หรือถูกทำลายเนื่องจากสนิมกัดกร่อน อุบัติเหตุ หรือด้วยเหตุอื่นใดโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และได้มีบันทึกรับรองหรือให้ถ้อยคำว่าเป็นเครื่องยนต์เดียวกับที่ปรากฏตามหลักฐาน
ในกรณีที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นเครื่องยนต์เดิมของรถตามหลักฐาน ให้ส่งกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ หรือศูนย์พิสูจน์หลักฐาน ๑ – ๑๐ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบและยืนยันความถูกต้อง
(๔) รถที่เจ้าของได้เปลี่ยนชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ที่มีหมายเลข โดยชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ที่เปลี่ยนใหม่ไม่มีหมายเลข และเจ้าของรถมีหลักฐานการได้มาถูกต้อง พร้อมทั้งมีบันทึกรับรองหรือให้ถ้อยคำว่าเป็นเครื่องยนต์เดียวกับที่ปรากฏตามหลักฐาน ทั้งนี้ ถ้าพบร่องรอยการเจียรไส เชื่อมทับ หรือโดยวิธีอื่น ที่ผิวโลหะบริเวณตำแหน่งที่เป็นเลขเครื่องยนต์โดยน่าเชื่อว่ามีการทำลายเลขเดิม ให้ส่งกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ หรือศูนย์พิสูจน์หลักฐาน ๑ – ๑๐ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบและยืนยันความถูกต้อง
(๕) รถที่ถูกโจรกรรมไปแล้วได้คืนและเลขเครื่องยนต์มีร่องรอยการแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือทำลายทั้งหมดหรือบางส่วน โดยเจ้าของรถมีหลักฐานการรับรถคืนจากพนักงานสอบสวนหรือศาล
พร้อมทั้งมีบันทึกรับรองหรือให้ถ้อยคำว่าเป็นเครื่องยนต์ของรถคันเดียวกับที่ปรากฏตามหลักฐาน
ในกรณีที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นเครื่องยนต์ของรถคันเดิม ให้ส่งกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ หรือศูนย์พิสูจน์หลักฐาน ๑ – ๑๐ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบและยืนยันความถูกต้อง
(๖) รถที่ได้มาจากการจำหน่ายของส่วนราชการ หรือการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมาย เช่น กรมศุลกากร หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น โดยมีหลักฐานการได้มาจากส่วนราชการนั้นถูกต้องแต่ไม่มีเลขเครื่องยนต์หรือมีแต่ถูกทำลายหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งได้มีบันทึกรับรองหรือให้ถ้อยคำว่าเป็นเครื่องยนต์ของรถคันเดียวกับที่ปรากฏตามหลักฐาน
ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องของเครื่องยนต์อาจขอให้ส่วนราชการที่จำหน่ายหรือขายทอดตลาดรถจัดส่งเอกสารรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้
(๗) รถที่มีเลขเครื่องยนต์ซ้ำซ้อนกับเลขเครื่องยนต์ของรถคันอื่น หรือซ้ำซ้อนกับเลขเครื่องยนต์อื่นที่ได้ส่งบัญชีไว้ หรือเครื่องยนต์ที่ส่งบัญชีไว้มีหมายเลขซ้ำซ้อนกัน ซึ่งการซ้ำซ้อนนั้นต้องปรากฏหลักฐานการจดทะเบียนรถหรือมีหลักฐานการได้มาถูกต้อง ให้พิจารณากำหนดและตอกเลขเครื่องยนต์ให้กับรถคันที่จดทะเบียนหรือดำเนินการทางทะเบียนหรือเครื่องยนต์ที่ส่งบัญชีลำดับหลัง
ข้อ ๑๑ ให้นำความในข้อ ๗ มาใช้บังคับกับการกำหนดและตอกเลขเครื่องยนต์โดยอนุโลม เว้นแต่ตัวเลขกลุ่มที่สองซึ่งเป็นเลขลำดับก่อนหลังที่ทำการตอกในแต่ละปี ให้กำหนดเป็นเลข ๒ หลัก ถ้าปีใดมีจำนวนเครื่องยนต์ที่ต้องตอกเกินกว่า ๒ หลัก ลำดับที่เกิน ๒ หลักให้ตอกเป็นเลข ๔ หลัก
ข้อ ๑๒ การตอกเลขเครื่องยนต์ให้ใช้ตัวเลขอารบิคที่มีขนาด ๖ มิลลิเมตร หรือขนาดใกล้เคียงและให้ตอกที่เสื้อสูบของเครื่องยนต์หรือตำแหน่งอื่นที่เหมาะสม โดยให้ตอกเรียงลำดับกลุ่มตามแนวนอน เว้นแต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นให้ตอกตามแนวตั้งหรือตามความเหมาะสม และให้นำความในข้อ ๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
-๕-
หมวด ๓
การอนุญาตให้กำหนดและตอกเลข
_______________
ข้อ ๑๓ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ ขนส่งจังหวัด หัวหน้าสำนักงานขนส่งจังหวัดสาขา หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าว เป็นผู้อนุญาตให้กำหนดและตอกเลขตัวรถหรือเลขเครื่องยนต์ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ
ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔
ลงชื่อ เทียนโชติ จงพีร์เพียร
(นายเทียนโชติ จงพีร์เพียร)
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก