ห้ามตั้งด่านจร.กลางวัน กฎใหม่บช.น. ออกใบเตือนก่อนปรับ ผ่อนปรนจับป้ายแดงวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 09:47:23 น.
รอง ผบช.น.สั่งผ่อนปรนจับป้ายแดง ให้ตักเตือน ย้ำห้ามตั้งด่านกลางวัน เลิกซุ่มจับ
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ห้องประชุมปารุสกวัน 2 กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รอง ผบช.น. ดูแลงานจราจร พล.ต.ต.มานิต วงศ์สมบูรณ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.อุทัยวรรณ แก้วสอาด ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก.จร.) รอง ผบก.จร. และรอง ผบก.น.1-9 ดูแลงานจราจร ประชุมงานจราจร บช.น. ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
หลังการประชุม พล.ต.ต.วรศักดิ์กล่าวว่า มีการประชุมหลายเรื่อง คือ
1.การงดตั้งจุด ว.43 กวดขันวินัยจราจร หรือการงดด่านในช่วงเวลากลางวัน แต่หากมีงานของฝ่ายปราบปรามก็ให้ไปร่วมด้วยโดยให้ตั้งในช่วงเวลากลางคืนหลังเวลา 21.00 น. เน้นเมาแล้วขับ และ 12 ข้อหา รวมถึงอาชญากรรม นอกจากนี้ในถนนเส้นเดียวกันตั้งซ้ำซ้อนไม่ได้ หากรถติดให้ปล่อยเป็นช่วงๆ ที่สำคัญคือ ห้ามมีการตีไก่หรือทุจริตอย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ความผิดทั่วไปเฉพาะเหตุซึ่งหน้าสามารถจับกุมได้ แต่จะไม่มีการซุ่มจับใดๆ ทั้งสิ้น พล.ต.ต.วรศักดิ์กล่าวว่า
2.การใช้ใบเตือนแทนใบสั่ง แจ้งให้ทุก สน.เข้าใจแล้วว่า ต่อไปนี้ยกเว้น 12 ข้อหาหลัก จะมีการออกใบเตือน โดยเมื่อออกใบเตือนแล้ว บก.จร.จะเก็บข้อมูลผู้ที่ออกใบเตือนไปก่อนหน้านี้ หากพบว่ากระทำผิดซ้ำในข้อหาเดิมจะปรับหนักเต็มอัตรา โดยใบเตือนอยู่ระหว่างสั่งพิมพ์
3.นโยบายเรื่องทะเบียนรถป้ายแดง สั่งการให้ชะลอโดยการว่ากล่าวตักเตือน และให้แนะนำการปฏิบัติ เนื่องจากกรมการขนส่งยังไม่พร้อมในส่วนนี้ 4.การใช้กล้องบันทึกภาพวิดีโอ ในการกวดขันวินัยจราจร (กล้องปากกา, กล้องกระดุม) ให้แต่ละ สน.ไปอบรมอาสาสมัคร ทาง บก.จร.จะอบรมให้ทั้งหมด จากนั้นจะสร้างเว็บไซต์มา เพื่อรองรับในส่วนนี้ เมื่ออาสาสมัครไปพบผู้กระทำความผิด จะถ่ายเป็นภาพมาฟ้อง ซึ่งพวกนี้ก็ต้องพร้อมเป็นพยานในศาลด้วย เมื่อถ่ายภาพเสร็จก็จะเก็บไว้เพื่อนำไปใช้ แจ้งความผิดไปยังเจ้าของรถทะเบียนนั้นๆ โดยผู้ที่ถ่ายภาพมาแล้วนั้นหากเจ้าของรถไม่ยินยอมหรือต่อสู้ก็ต้องต่อสู้ในศาล แต่หากยอมรับผิดยินยอมก็เสียค่าปรับ ซึ่งจะได้ประโยชน์ 2 ทาง คือ ต่อไปคนจะเกรงกลัวมากขึ้น สำคัญที่สุดคือกล้องปากกาหรือกล้องกระดุมนั้น หัวหน้าชุดปฏิบัติจะเป็นผู้ใช้บันทึกทั้งหมด เพื่อควบคุมการทำงานของตำรวจให้อยู่ในกรอบ รวมถึงป้องกันพวกที่มาเบ่งจะลำบากขึ้น" รอง ผบช.น.กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า อาสาสมัครจราจรต้องมีคุณสมบัติอย่างไร พล.ต.ต.วรศักดิ์กล่าวว่า ต้องถูกเลือกแล้ว คิดพอสมควร ไม่เอาเยอะ สน.ละ 3-5 คน ช่วยเรื่องนี้อย่างเดียว ไปทำอย่างอื่นไม่ได้ ไม่มีสิทธิไปทำอย่างอื่น จากนั้นจะเก็บภาพและรายงานเข้ามา ส่วนกล้องจะเป็นกล้องอะไรก็ได้ ส่งมาให้เรา นอกจากนี้ตำรวจจะถ่ายภาพด้วย เนื่องจากงดตั้งด่านอาจจะลำบากในช่วงแรก แต่จะนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น และเมื่อตั้งด่านตำรวจก็จะเริ่มตั้งกล้อง อย่างน้อยก็ป้องกันตัวเองว่าไม่ได้ซุ่มจับ ตั้งด่านแล้วแฟร์ ไม่มีข้อครหา ส่วนกรณีไม่มีการตั้งด่านจะใช้การถ่ายภาพรถที่ปาด ที่แซงทั้งหลาย ก่อนบันทึกทะเบียนและแจ้งให้มาเสียค่าปรับ
เมื่อถามว่า กล้องต่างๆ พร้อมใช้เมื่อใด พล.ต.ต.วรศักดิ์กล่าวว่า หากอบรมพร้อมเมื่อใดก็พร้อมใช้ได้ทันที อุปกรณ์ต่างๆ ใช้ของอาสาและของตำรวจด้วย นำมาช่วยกัน ใครมีอุปกรณ์ส่วนตัวก็ให้นำมาใช้ เพื่อให้การทำงานชัดเจนขึ้น ทั้งป้อง ทั้งปราม ทั้งปราบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 12 ข้อหาหลักด้านการจราจร ประกอบด้วย 1.ข้อหาแข่งรถในทาง 2.ขับรถเร็ว 3.แซงในที่คับขัน 4.เมาแล้วขับ 5.ขับรถย้อนศร 6.ไม่สวมหมวกนิรภัย 7.จอดรถซ้อนคัน 8.ไม่ติดแผ่นป้ายะเบียน 9.มลพิษควันดำ 10.จอดรถในที่ห้ามจอด 11.การจอดรถบนทางเท้า และ 12.การขับรถบนทางเท้า
ที่มาครับ
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1344998614&grpid&catid=19&subcatid=1905