ช่วงใกล้จะเข้าฤดูหนาวแบบนี้ คุณผู้อ่านหลาย ๆท่านคงจะเริ่มคิดกันแล้วว่าจะจัดทริปชวนกันไปสัมผัสอากาศหนาว ชมทะเลหมอก ณ ยอดภูหรือดอยสูง แต่การขับรถขึ้นลงเขาสูงดอยชันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เราเลยนำประสบการณ์มา บอกเล่าเพื่อให้คุณผู้อ่านไปให้ถึงที่หมายและกลับได้อย่างปลอดภัย
สำหรับคนที่ชอบขับรถไปเที่ยวเอง สิ่งหนึ่งที่ต้องทำก่อนเดินทางทุกครั้งก็คือการตรวจสภาพรถ ถ้าทำไม่เป็น ก็สามารถเอารถเข้าศูนย์บริการหรืออู่ให้ช่างช่วยจัดการให้จะสะดวกที่สุด นอกจากนี้ก็ให้เตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือยามฉุกเฉิน อย่างสายลากรถ สายพ่วงแบตเตอรี่ ไฟฉาย เครื่องมือเปลี่ยนยาง และสิ่งอื่น ๆ ที่คิดว่าจำเป็นให้พร้อม เตรียมรถเสร็จแล้วก็มาเตรียมตัวคนขับ เริ่มจากศึกษาแผนที่และเส้นทางที่จะไป ถ้าหาระบบนำทางด้วยดาวเทียมมาใช้ได้ยิ่งสะดวกมาก จากนั้นก่อนเดินทางก็ควรจะพักผ่อนให้เต็มที่ และเมื่อเดินทางไกลก็ควรแวะพักทุก 1 ชั่วโมงเพื่อผ่อนคลายความเมื่อยล้า
เมื่อเริ่มเข้าสู่เส้นทางที่เป็นภูเขาสูง สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “มีสติและไม่ประมาท สมาธิอยู่ที่ถนนและพวงมาลัย” ดูสภาพของเส้นทางสภาพอากาศเป็นอย่างไร มีฝนตกทำให้ถนนเปียกลื่นไหม หมอกลงหนักเบาขนาดไหน จะได้ประเมินว่าต้องขับเร็วหรือช้าขนาดไหน และอีกสิ่งที่ควรทำตลอดการขับขี่คือสังเกต เชื่อฟัง และปฏิบัติตามป้ายหรือเครื่องหมายจราจร ในการขับรถขึ้นเขา สิ่งที่ลำบากที่สุดก็คือการขับแซงรถคันหน้าที่วิ่งช้ากว่า เพราะเส้นทางบนเขามักจะเป็นแบบ 2 เลนและคดเคี้ยวไปมา อีกทั้งมักจะมีสันเขาหรือต้นไม้บดบังการมองเห็น ทำให้การกะระยะเพื่อแซงทำได้ยาก แถมอัตราเร่งของรถเมื่อต้องวิ่งขึ้นทางชันจะช้าลงกว่าการวิ่งบนพื้นราบ ดังนั้นถ้าจะให้แซงได้อย่างปลอดภัย ก็ควรจะเลือกแซงเมื่อมองเห็นทางข้างหน้าได้อย่างชัดเจน เผื่อระยะของรถที่ขับสวนมาให้ไกลมากกว่าตอนวิ่งบนพื้นราบ และควรเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำลงเพื่อให้รถมีกำลังในจังหวะเร่งแซง
ส่วนในกรณีที่รถคันหน้ามีขนาดใหญ่อย่างรถบรรทุก ให้ผู้ขับคอยสังเกตสัญญาณไฟเลี้ยวของรถบรรทุก ถ้าเส้นทางข้างหน้าว่างพอจะให้แซงได้ พวกพี่ ๆ รถบรรทุกก็จะเปิดไฟเลี้ยวซ้ายและขับชิดซ้ายเพื่อให้รถเล็กแซงขึ้นไปได้โดยสะดวก แต่ถ้ารถใหญ่เปิดไฟเลี้ยวขวานั้นหมายถึงมีรถสวนมาอย่าเพิ่งแซง (สำหรับเรื่องสัญญาณไฟนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติไม่ใช่ข้อบังคับทางกฎหมาย)
สำหรับการขับรถลงเขา สิ่งที่ยากที่สุดก็คือการชะลอความเร็วขณะเข้าโค้ง เพราะด้วยแรงโน้มถ่วงจะเป็นตัวที่ทำให้รถมีความเร็วเพิ่มขึ้นเอง จึงทำให้ต้องเหยียบเบรกแรงขึ้นและบ่อยขึ้นกว่าการวิ่งบนพื้นราบ ดังนั้นถ้าคุณใช้แต่เบรกอย่างเดียวในการชะลอความเร็ว ก็จะทำให้เกิดความร้อนสะสมมากจนผ้าเบรกไหม้และลื่น ทำคุณเบรกรถไม่อยู่จนรถอาจจะแหกโค้งตกเขาได้ ดังนั้นเวลาขับรถลงเขาต้องใช้เทคนิคการเปลี่ยนเกียร์ต่ำลงช่วยด้วย
การเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำจะช่วยให้รถชะลอความเร็วลงได้ โดยอาศัยแรงต้านทานการหมุนขึ้นในจังหวะอัดของเครื่องยนต์หรือที่เรียกว่า “การเบรกด้วยเครื่องยนต์” (เอ็นจิน เบรก) ซึ่งเป็นการช่วยลดความเร็วรถโดยลดการทำงานของระบบเบรกวิธีเปลี่ยนเกียร์ต่ำทำได้ไม่ยาก สำหรับรถเกียร์ธรรมดาจะเห็นผลชัดกว่าเกียร์อัตโนมัติ เพราะรถเกียร์ธรรมดาให้ความฝืดของผ้าคลัตช์เป็นตัวตัดต่อกำลัง จึงส่งแรงขับและแรงต้านการหมุนได้ดีกว่า ผู้ขับเพียงไล่เปลี่ยนเกียร์ต่ำลงเรื่อย ๆ จากเกียร์ 5 ไปเกียร์ 4 3 2 และ 1 ให้เหมาะสมกับความลาดชันของพื้นถนน และสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนเกียร์ต่ำลงก็คือต้องเปลี่ยนเกียร์ให้เรียบร้อยก่อนถึงโค้ง ซึ่งจะช่วยให้ลดความเร็วขณะลงเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก
ส่วนรถเกียร์อัตโนมัติซึ่งใช้น้ำมันเป็นตัวส่งกำลังขับเคลื่อน ก็สามารถเปลี่ยนเกียร์ต่ำลงมาเป็นเกียร์ 2 และเกียร์ L เพื่อช่วยลดความเร็วได้เช่นกัน แต่จะให้แรงต้านการหมุนที่น้อยกว่าเกียร์ธรรมดา ผู้ขับจึงยังคงต้องใช้การเหยียบเบรกร่วมด้วยมากกว่า แต่ขอให้เป็นการเหยียบแล้วปล่อยย้ำ ๆ บ่อย ๆ อย่าเหยียบแช่ค้างไว้ เพราะจากเบรกที่ร้อนจัดจะทำให้ผ้าเบรกไหม้ และในบางครั้งถ้าความเร็วรอบของเครื่องยนต์สูงเกินไป สมองกลของเกียร์ก็จะไม่ยอมเปลี่ยนเกียร์ลงให้ โดยเฉพาะเกียร์ L เพราะอาจจะทำให้เกียร์เกิดความเสียหายได้ ดังนั้นผู้ขับจะต้องเหยียบเบรกให้รถลดความเร็วลงให้เหมาะสมก่อนด้วย สมองกลจึงจะยอมเปลี่ยนเป็นลงเป็นเกียร์ L ให้เทคนิคอีกอย่างที่ต้องใช้เวลาขับรถขึ้นลงเขาก็คือการควบคุมพวงมาลัย โดยเฉพาะการขับรถเข้าโค้งต่าง ๆ ถ้าดูแล้วว่าไม่มีรถสวนมา ก็ให้ขับด้วยวิธีที่เรียกว่า “การตัดยอดโค้ง” ซึ่งจะช่วยให้ควบคุมรถเข้าโค้งได้ง่ายขึ้น โดยถ้าเป็นโค้งซ้าย ช่วงที่ก่อนจะถึงโค้งก็ให้เปลี่ยนเลนไปอยู่ช่องขวาก่อน แล้วเล็งดูที่ยอดของโค้งทางซ้าย บังคับรถให้เลี้ยวมาชิดขอบเลนซ้าย จากนั้นก็ปล่อยให้รถบานออกไปทางเลนขวาบ้างนิดหน่อย แล้วค่อย ๆ ดึงรถกลับมาในช่องทางปกติ
ส่วนในโค้งขวาก็ให้อยู่เลนซ้ายไว้ เล็งยอดของโค้งขวาแล้วขับปาดเข้าไปชิดยอดโค้ง ช่วงออกจากโค้งก็ปล่อยให้รถบานออกไปทางช่องซ้ายตามปกติ วิธีนี้จะทำให้การเข้าโค้งง่ายขึ้น เพราะรัศมีในการเข้าโค้งจะมีความกว้างมากขึ้น ช่วยลดแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางที่จะทำให้รถเข้าโค้งยาก สำหรับทางโค้งรูปตัวเอส (S) ถ้าถนนโล่งไม่มีรถสวนมา ก็ให้วิ่งตัดยอดโค้งเป็นเส้นตรงไปได้เลย แต่ต้องมั่นใจว่าไม่มีรถสวนมา
ในกรณีที่รถเสียการทรงตัวในทางโค้ง อาทิ เวลาเร่งเครื่องเข้าโค้งแล้วรถเกิดอาการท้ายปัด มีวิธีแก้ไขขั้นแรกคืออย่าตกใจ ต้องมีสติ จากนั้นยกเท้าออกจากคันเร่งเพื่อลดกำลังของรถ อย่ากระทืบเบรก ให้ค่อย ๆ แตะเบรกและพร้อมกันนั้นก็ให้หมุนพวงมาลัยไปในทิศทางตรงข้ามกับท้ายรถที่ปัดออก เมื่อรถกลับมาตั้งลำได้ตรงจึงเหยียบเบรกให้รถช้าลงและพยายามประคองรถให้อยู่ในช่องทางจนรถหยุด แต่ถ้ารถมีอาการดื้อโค้ง (อาการที่รถเลี้ยวเข้าโค้งไม่ได้ ตัวรถพยายามจะตรงไปข้างหน้าอย่างเดียว ) การแก้ไขอาการหน้าดื้อโค้งจะง่ายกว่าอาการท้ายปัด เพียงผู้ขับยกเท้าออกจากคันเร่งและคืนพวงมาลัยให้ล้อตรง แล้วหมุนพวงมาลัยให้ล้อเลี้ยวไปในทิศทางที่ต้องการจะเลี้ยวไป สลับไปมาอย่างนี้เร็ว ๆ รถก็จะกลับมาอยู่ในการควบคุม สุดท้ายแล้วขอให้คุณผู้อ่านเดินทางท่องเที่ยวอย่างสนุกและปลอดภัยนะครับ.
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.dailynews.co.th/article/1546/165945