ผมเอารายละเอียดอุปกรณ์และวงจรทั่วๆไปของพัดลมไฟฟ้ามาลงไว้เป็นข้อมูลครับ
มาดูเรื่องอุปกรณ์ที่ต้องใช้กันก่อน ข้อมูลที่ผมจะลงเอาแค่พื้นฐานที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเลือกใช้อุปกรณ์แต่ละตัวพอนะครับ ไม่ขอลงรายละเอียดมากนัก...
1. พัดลมไฟฟ้าพัดลมไฟฟ้าที่ติดตั้งหลังหม้อน้ำจะเป็นแบบดูด (ส่วนพัดลมหน้าแผงแอร์ในปาเราจะเป็นแบบเป่า) ใช้กับไฟกระแสตรง (DC) 12 โวลท์ ก็จะมีทั้งแบบทำงานสเตปเดียว หรือทำงาน 2 สเตป (2 สปีด) โดยเราดูเบื้องต้นได้จากสายไฟที่ต่อออกมาจากตัวพัดลมไฟฟ้า
หากมีสองเส้นคือทำงานสเตปเดียว หมุนด้วยความเร็วเดียวเมื่อจ่ายไฟให้
หากมี 4 หรือ 3 เส้น (กราวด์ร่วม) ก็จะทำงานได้ 2 สเตป เมื่อเราจ่ายไฟเข้าที่สายไฟคู่นึงพัดลมก็จะหมุนเร็วครึ่งนึง (โดยประมาณ) หากจ่ายไฟให้สองคู่ก็จะหมุนเร็วเต็มที่
ในรูปเป็นพัดลมที่ผมเอามาทดลองครับ มีสายออกมาก 4 เส้น ทำงานได้ 2 สเตป
อีกเรื่องที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับพัดลมระบายความร้อนคือกระแสที่ใช้
โดยทั่วไปพัดลมขนาดใบ 12-16 นิ้วที่เห็นอยู่ในบ้านเราจะต้องการกระแสประมาณ 10 - 20 แอมป์ (ขึ้นอยู่กับกำลังของมอเตอร์ ความเร็วรอบ) ซึ่งกระแสเท่านี้ไม่น่าจะมีปัญหาที่เอามาใช้ในปาเรา
แต่ที่จะต้องเน้นเพราะผมเห็นในเวปต่างประเทศบางที่ใช้พัดลมขนาด 16-18 นิ้วบางรุ่นซึ่งกินกระแสมากถึง 40 - 45 แอมป์ อันนี้คงไม่ดีกับ alternator (หรือไดชาร์ท) และแบตในรถเราครับ ถ้าผมจำไม่ผิดเจ้า alternator ในเครื่อง 4D56 จะเป็นขนาด 90 แอมป์ครับ
พัดลมขนาดใบ 12 นิ้วที่ผมใช้ 1 ตัวทำงานเต็มที่ (2 สเตป) กินกระแสประมาณ 12 แอมป์ 2 ตัว 24 แอมป์ก็ดูไม่หนักหนาเกินไปครับ
2. รีเลย์ ส่วนมากที่นิยมเอามาต่อเพิ่มในรถกันก็จะเป็นแบบในรูป ซึ่งอาจจะมี 4 หรือ 5 ขา การเอามาใช้ในงานนี้สิ่งที่เราต้องพิจารณาคือคอนแทคของรีเลย์ (ขา 30, 87, 87a) รองรับกระแสได้กี่แอมป์? รีเลย์ที่นิยมใช้กันแบบในรูป คอนแทคจะทนกระแสได้ 30 - 40 แอมป์ (ต้องดูจากสเปค ตอนซื้อ)
รีเลย์จะเข้ามาช่วยให้เราสามารถใช้ไฟกระแสน้อยๆเพื่อควบคุมตัด/ต่อวงจรที่ต้องการกระแสมากๆได้ ซึ่งเราจะเอารีเลย์มาใช้ในการตัด/ต่อจ่ายไฟให้วงจรพัดลมไฟฟ้า
การทำงานของรีเลย์คือ
ในขณะที่เราไม่จ่ายไฟให้คอยล์รีเลย์ (ขา 85 และ 86) ขา 87a จะต่อเข้ากับขา 30 (รีเลย์บางตัวไม่มีขา 87a) ส่วนขา 87 จะลอยคือไม่ต่อกับอะไร
เมื่อเราจ่ายไฟให้คอยล์รีเลย์ รีเลย์ก็จะทำการต่อ ขา 87 เข้ากับขา 30 ขา 87a จะลอย
ส่วนประกอบอีกตัวนึงคือซ็อกเก็ตรีเลย์ ช่วยให้เราต่อสายไฟและถอดเปลี่ยนรีเลย์ได้ง่าย
3. เทอร์โมสวิทช์ (บางที่เรียกกันว่าสวิทช์พัดลมไฟฟ้า)
เจ้าตัวนี้เปรียบเหมือนสมองของระบบพัดลมไฟฟ้าครับคือมันจะทำการเปิดหรือปิดพัดลมไฟฟ้าเมื่ออุณหภูมิถึงจุดที่กำหนด
โดยเทอร์โมสวิทช์แต่ละรุ่นจะระบุมาจากผู้ผลิตว่า สวิทช์ภายในจะต่อหรือตัดที่อุณหภูมิเท่าไหร่ เช่น
เทอร์โมสวิทช์แบบ Normally Open (ปกติสวิทช์เปิด, ตัดวงจร) ในรูปผู้ผลิตระบุว่าสวิทช์จะต่อวงจรที่ 85 องศา และหากต่อวงจรไปแล้วจะตัดอีกทีที่ 80 องศา
ส่วนอันนี้มีสวิทช์อยู่ภายใน 2 ตัว จะตัด/ต่อวงจรที่ 2 ช่วงอุณหภูมิคือ
สวิทช์ที่ 1 ต่อวงจรที่ 97 องศา และเมื่อต่อแล้วจะตัดที่ 87 องศา
สวิทช์ที่ 2 ต่อวงจรที่ 100 องศา และเมื่อต่อแล้วจะตัดที่ 95 องศา
รูปภาพทั้งสองรูปด้านบนผมเอามาจาก eBay ครับ
การติดตั้งเทอร์โมสวิทช์ สำหรับรถดัดแปลง (รถที่ใช้พัดลมไฟฟ้ามาจากโรงงานจะมีเทอร์โมสวิทช์ติดตั้งมาอยู่แล้ว)
โดยมากแล้วรถที่ทำการเปลี่ยนหม้อน้ำไปด้วยมักจะฝังเทอร์โมสวิทช์ลงบนหม้อน้ำใหม่เลย ซึ่งตรงนี้ร้านทำหม้อน้ำจัดการให้ได้
อีกทางเลือกนึงคือติดตั้งเทอร์โมสวิทช์ไว้บนอแดปเตอร์และทำการตัดท่อยางแล้วใส่อแดปเตอร์นี้ลงไป (เหมือนกับการติดตั้งเซ็นเซอร์ที่ใช้ใน Water temp gauge)
แต่เจ้าอแดปเตอร์แบบนี้ต้องสั่งทำครับ ผมยังไม่เห็นมีขายแบบที่สามารถใส่เทอร์โมสวิทช์ลงไปได้เลย
สองรูปบนนี้ผมแปะลิงค์ไปยังเวปต้นฉบับเขาเลยครับ
4. สายไฟ เป็นอีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามครับ
ขนาดและความยาวของสายไฟที่ใช้ในแต่ละจุดจะต้องมีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟที่ใช้
เช่น
สายไฟที่ใช้ในวงจรส่วนที่ต้องรับกระแสสูง เช่นส่วนที่ต่อจากแบตเตอรรี่ไปยังคอนแทครีเลย์ จากคอนแทครีเลย์ไปยังพัดลม จากพัดลมลงกราวด์ เราจะต้องพิจารณาขนาดสายไฟที่ใช้ (จริงๆแล้วเราดูขนาดของตัวนำไฟฟ้าในสายไฟ) เช่น หากพัดลมเรากินกระแสสูงสุด 20 แอมป์ สายที่ใช้ควรมีขนาดไม่น้อยกว่า 18AWG (หรือสายเบอร์1) ที่ความยาวไม่เกิน 2 เมตร (ความยาวรวมจากแบตถึงพัดลม)
ในวงจรที่ใช้กระแสสูง ความยาวของสายไฟเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเพราะจะมีผลในเรื่องแรงดันไฟตกคร่อมในสาย ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าปลายทางได้รับแรงดันน้อยกว่าแหล่งจ่าย
หมายเหตุ ตัวเลขขนาดสายไฟและความยาวข้างบนเป็นการประมาณครับ หากต้องการตัวเลขชัดๆสามรถหาได้จากในเน็ตมีมากมายหลายแหล่งครับ และควรเพิ่มขนาดสายไฟจากขั้นต่ำไปซัก 1-2 เบอร์เพื่อความปลอดภัย
ในส่วนวงจรขับคอยล์ของรีเลย์แบบที่เราพูดถึงในข้อ 2 นั้นกินกระแสไฟประมาณ 100 ไม่เกิน 200 มิลลิแอมป์ (0.1 ไม่เกิน 0.2 แอมป์) ดังนั้น ถึงเราจะใช้สายไฟเส้นเล็กก็สามารถรองรับกระแสปริมาณเท่านั้นได้ แต่หากพิจารณาในเรื่องการติดตั้งใช้งานในห้องเครื่องซึ่งมีความร้อนและอาจมีการเสียดสี การใช้สายไฟเส้นใหญ่ซักนิดที่มีฉนวนหุ้มทองแดงที่ดูหนาและทนหน่อยก็จะเหมาะสมกว่า
อุปกรณ์อีกตัวนึงที่ผมขอรวมไว้ในหัวข้อนี้คือฟิวส์ครับ
วงจรพัดลมไฟฟ้านั้นใช้ไฟเยอะ ดังนั้นควรต่อฟิวส์เพิ่มและขนาดของฟิวส์ที่ใช้ต้องเหมาะสมกับปริมาณกระแสที่ใช้
ในระบบที่ผมทำเป็น 2 วงจรพัดลมไฟฟ้า ใช้ฟิวส์ 20แอมป์ สำหรับแต่ละวงจร
อีกส่วนที่ต้องพิจารณาคือขนาดสายไฟต้องรองรับกระแสได้มากกว่าฟิวส์ที่ใช้ หากเกิดการลัดวงจรฟิวส์จะต้องขาดก่อนที่สายไฟจะร้อนจนละลาย จนเกิดไฟไหม้ได้ครับ
หมดเรื่องอุปกรณ์ละครับ