เริ่มต้นโมดิฟลายเบรกให้อยู่ขึ้น และวิธีต่างๆที่นิยมกันจากเมื่อตอนที่แล้ว เราพอจะทราบกันแล้วว่าระบบเบรก ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ตัวใดบ้าง ปัญหาต่างๆของระบบเบรก และการดูแลรักษา เรามาดูกันต่อว่าถ้าเราคิดว่า การใช้งานเบรกของเรานั้น รุนแรงกว่าที่เบรกธรรมดาจะรับแรงกระทืบของเราได้แล้ว ควรทำอย่างไร และการโมดิฟลายระบบเบรกนั้น ควรเริ่มต้นโมกันจุดใด มีวิธีอย่างไหนบ้าง
1. เปลี่ยนผ้าเบรกใหม่
เป็นวิธีแรก ที่นักซิ่งเริ่มทำกันเมื่อรู้สึกว่า เริ่มจะเบรกไม่อยู่ คื่อการหาผ้าเบรกเกรดที่ดีกว่ามาใช้แทน ผ้าเบรกที่เกรดสูงกว่ามาตราฐาน OEM จากโรงงาน คือผ้าเบรกที่มีคุณสมบัติทนความร้อนสูงขี้น และมีความฝืดสูงจำพวก Semi Metallic ที่มีส่วนผสมของ พวก Orgarnic , Sinter Metal , ไฟเบอร์ , ผงอลูมิเนียม และผงทองแดง พวกนี้จะมีแรงฝืดที่อุณหภูมิสูง คือตอนจานเบรกร้อนจะจับตัวดี แต่ตอนเย็นๆอาจจะลื่นๆ ซึ่งผู้ใช้ต้องควรระวัง
การเลือกซื้อ
ผ้าเบรกพวก Woven Lining หรือพวกที่โฆษณาว่าเป็นผ้าทองแดง ราคาถูก พวกนี้ไม่ต่างจากของ OEM มากเท่าไหร่ แค่นำทองแดงมาผสมให้ดูดี แต่ใช้งานตอนเย็นๆก็เบรกดี แต่พอร้อนๆหน่อยเบรกไม่อยุ่ซะงั้น พวกนี้ไม่ควรเลือกซื้อครับ
ผ้าเบรกพวก Semi Metallic ราคาจะอยู่ที่หลักพันต้นๆ ถึงหลักพันปลายๆ ขึ้นอยู่กับส่วนผสมของแต่ละยี่ห้อ ถือว่าใช้ได้ดีกับรถซิ่งตามท้องถนน ข้อเสียคือกินจานเก่ง และอาจมีผงดำติดล้อแม็ค
ส่วนพวก Fully Metallic ราคาจะอยู่หลัก 3 พันขึ้น พวกนี้เบรกอยู่ดี แต่อาจมีเสียงดังบ้าง จานเบรกจะสึกหรออย่างรวดเร็ว คุณภาพดีมากแต่ราคาก็สูงตามขึ้นไปด้วย ถ้าการเบรกไม่ขนาดหักโหมแบบ One Make Race แบบ Semi ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานแล้ว
ในรถที่ใช้ในสนามจริงๆมักจะใช้แบบล้อหน้ายี่ห้อหนึ่ง แต่ล้อหลังอีกยี่ห้อ หรือคนละชนิดกันเลย ขึ้นอยู่กับทีมช่างจะเลือกใช้ให้เหมาะกับการขับขี่ของนักแข่งแต่ละคน
2. เปลี่ยนเป็นระบบดิสเบรกหลัง
สำหรับรถที่เป็นดรัมเบรกหลัง การเปลี่ยนเป็นระบบดิสเบรก เป็นทางเลือกที่ดี ส่วนมากนิยมซื้อชุดดิสเบรกจากเชียงกง ของเก่ายี่ปุ่นตรงรุ่นมาใส่
การเลือกซื้อชุดดิสเบรค ควรเลือกให้ตรงรุ่นกับรถที่เราใช้อยู่ จุดยึดต่างๆต้องเหมือนกัน สายเบรกมือต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่ขาดหาย จานดิสเบรกยังหนาไม่เป็นรอย ผ้าเบรกยังหนาใช้ได้อีกนาน สายอ่อนเบรกไม่แตกร้าว และคานปีกนกที่ติดมาต้องไม่บิดเบี้ยวเพราะการกระแทก หรือเกิดการชน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนดิสเบรกหลัง คือต้องเปลี่ยนดิสเบรกหน้าให้มีขนาดโตขึ้นตามขนาดของรถที่เราหยิบยืมดิสเบรกหลังเขามา รุ่นที่เป็นดิสเบรกหลัง สังเกตุได้ว่าจานดิสเบรกหน้าจะโตกว่า รุ่นดรัมเบรก จึงควารหาดิสเบรกหน้ามาใส่ให้ตรงรุ่น เพราะฉะนั้นแรงจับหลังอาจมีมากกว่า เกิดอาการท้ายปัดได้ ส่วนสำหรับผู้ที่เปลี่ยนดิสเบรกหลังแล้วรู้สึกว่าเบรกไม่อยู่ จานเบรกหลังไม่จับ ส่วนมากมักเกิดจาก วาล์วลดแรงดันน้ำมันเบรก เป็นวงจรลดแรงดันน้ำมันที่จะไปสู่ล้อหลัง ต้องเปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับรถรุ่นที่เป็นดิสเบรกหลัง
3. เปลี่ยนหม้อลมเบรกให้ใหญ่
บางครั้งแล้วเราคิดว่า หม้อลมเบรกใหญ่จะทำให้เบรกอยู่ขึ้น แต่จริงๆแล้ว หม้อลมเบรกทำหน้าที่ในการช่วยผ่อนแรงเท้าที่เหยียบเบรกเท่านั้น ขนาดของหม้อลมมีความสัมพันธ์กับน้ำหนักรถ แรงดูดสุญญากาศกับเครื่องยนต์ ความแรงของเครื่องยนต์
การเลือกซื้อหม้อลม ควรจะเลือกให้โตขึ้นอีกนิดหน่อย เช่นเป็นหม้อลมแบบชั้นครึ่ง พวกนี้จะมีเนื้อที่เก็บแรงดูดสุญญากาศไว้ช่วยในการเหยียบเบรกได้หลายๆครั้ง ส่วนการเปลี่ยนหม้อลมที่มีขนาดโตเกินไป อาจทำให้การเหยียบเบรกเบาๆ ล้อก็เกิดอาการล็อค ถือว่าอันตรายมาก หรือถ้าแรงดูดของเครื่องไม่พอ ก็เกิดอาการเบรกตื้อได้ วิธีดูหม้อลมที่ดี ต้องไม่มีการบุบ ลองกดขา และใช้นิ้วอุดท่อลมดู ต้องไม่มีอาการรั่ว หรือมีเสียงดัง แม่ปั้มเบรกไม่มีน้ำมันรั่ว หรือมีน้ำมันเบรกค้างอยู่ในหม้อลม สากเบรกที่ตัดต่อต้องมีความแข็งแรงพอ
4. เปลี่ยนจานเบรกให้ขนาดโต
สำหรับรถที่แรงม้าสูงๆ การเปลี่ยนจานเบรกให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด จานเบรกที่มีขนาดโต จะทำให้เนื้อที่จานเบรกมีขนาดมากขึ้น สามารถใช้ผ้าเบรกที่มีขนาดกว้างขึ้น แรงฝืดจึงสูงกว่า และจานเบรกที่มีขนาดโตจะทำให้จานมีเนื้อที่ระบายความร้อนได้มากขึ้น ระบายความร้อนได้เร็ว จานเบรกยิ่งมีขนาดโตขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งสามารถลดรอบการหมุนของล้อได้เร็วขึ้น ออกแรงน้อยลง เป็นลักษณะการผ่อนแรงในระบบคาน แรงเบรกที่วงนอกสุดจะออกแรงน้อยกว่า แรงเบรกที่อยู่ในวงในสุด คล้ายกับเบรกก้ามปูของจักรยาน ที่จับบนขอบล้อ จะลดรอบได้เร็วกว่า
การเลือกซื้อ ในรถที่สามารถหยิบยืมจานดิสเบรกขนาดโตมาใส่โดยไม่ต้องดัดแปลงถือว่าโชคดี
และปลอดภัยที่สุด เช่นตระกูลนิสสันมักนิยมใช้ของ SKYLINE R32 – R33 แม่ปั้ม 4 Port ถือว่าคุ้มค่า ราคาตั้งแต่ 3500 ขึ้นไป หรือพวก S14 หรือถ้าตะกูล Toyota ก็พวก CELICA GT4 หรือพวก Mitsu ก็พวกตระกูล EVO นั่นเอง
สำหรับรถที่ต้องทำการดัดแปลง จากระบบดิสเบรกรุ่นอื่น ยี่ห้ออื่น การดัดแปลงทำได้หลายวิธีเช่น กลึงดุม และเจาะรูจานเบรกให้พอดีกับรูของล้อ หรือสร้างอแดปเตอร์มาเสริมให้ใส่จานเบรกได้พอดี ส่วนการยึดคาริเปอร์เบรกถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญมากที่สุด การดัดแปลงจุดยึดคาริเปอร์ควรใช้ระบบการสร้างอแดปเตอร์ แบบปีกผีเสื้อ ใช้เหล็กที่มีความหนา หรืออลูมิเนียมเกรดสูงมาตัดสร้าง เจาะรูยึดน๊อตติดกับรูคาริเปอร์เดิม ส่วนอีกด้านหนึ่งยึดกับคาริเปอร์ตัวใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ส่วนการตัดหูยึดคาริเปอร์เดิม แล้วสร้างเหล็กมาตัดเชื่อม ถือว่าเป็นการไม่ปรอดภัย เพราะหูยึดคาริเปอร์เก่าติดดุมจะเป็นเหล็กหล่อ ส่วนหูยึดคาริปเปอร์ใหม่ที่สร้างขึ้นนิยมใช้เหล็กเหนียวตัดเป็นหูและเชื่อมติดกัน วิธีนี้จะทำให้เหล็กหล่อที่ได้รับความร้อนในการเชื่อม เกิดความเปราะแตกร้าวง่าย ลวดเชื่อมคุณภาพต่ำไม่สามารถประสานรอยเชื่อมได้ดี
5. การเจาะรู และ เสาะร่องจานเบรก
รูบนจานเบรกทำหน้าที่ในการระบายความร้อนระหว่างผ้าเบรก และจานเบรก ในใช้งานที่อุณหภูมิสูงความร้อนระหว่างผ้าและจานจะสูงมากเกิดเป็นไอความร้อนในรูปของแก็ส ทำหน้าที่สกัดกันการสัมพัสกันระหว่างผ้าเบรกและจานเบรก การเจาะรูจึงช่วยในการระบายความร้อน และแก็สให้ผ่านรูเล็กๆออกไป
ร่องจานเบรกทำหน้าที่กวาดฝุ่นผงของ ผ้าเบรกให้หลุดออกได้ง่ายขึ้น เป็นการช่วยทำความสะอาดผ้าเบรกไปในตัวเท่านั้นเอง
สำหรับจานเบรกซิ่งส่วนมากจะมีการเจาะรู และเสาะร่องมาจากโรงงาน แต่สำหรับจานเบรกแบบโรงงานก็สามารถนำมาเจาะรู ได้ การเจาะรูต้องมีการคำนวน ระยะห่างให้เหมาะสม การเจาะรูจานเบรกแม้จะช่วยในการระบายความร้อน แต่ก็เป็นจุดอ่อนทำให้จานเบรกเกิดการแตกร้าวได้ง่ายๆ (แม้แต่จานเบรกซิ่งยังแตกร้าวให้เห็นกันบ่อยๆ) ดังนั้นการเจาะรูจานเบรกไม่ควรเจาะรูให้ถี่มากเกินไป หรือใช้เป็นระบบนำจานเดิมไปเซาะร่องก็ถือว่าเพียงพอแล้ว แถมยังง่ายต่อการดูแลอีกด้วย
6. คบหากับชุดเบรกซิ่ง
จานเบรกซิ่งสมัยนี้มีให้เลือกมากมายหลายยี่ห้อ ราคามือสองก็ตั่งแต่หลักหลายหมื่น จนถึงหลักแสน ถ้าเป็นของใหม่ราคาต้องเล่นกันที่หลักแสนอย่างเดียวครับ จานเบรกซิ่งส่วนมากจะทำเป็นลักษณะ 2 ชั้น วงนอกเป็นจานเบรกโลหะผสมเกรดสูง แล้วแต่สูตรของแต่ละยี่ห้อ ส่วนด้านในเป็นจานสำหรับยึดดุมล้อ ทำจากอลูมิเนียมเกรดสูง 7075 ยึดน๊อตโดยรอบกับตัวจานดิสเบรก จานดิสเบรกแบบนี้มีข้อดีอยู่ที่ น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้เร็ว ด้วยวัสดุที่ดีกว่าการเจาะรูระบายความร้อนจึงเสี่ยงต่อการแตกร้าวยากกว่า การออกแบบเป็น 2 ชั้นแยกจากกัน ช่วยลดการบิดตัวของจาน ลดอาการเบรกสั่น และยังช่วยให้จานเบรกบิดตัวรับกับผ้าเบรกได้แนบสนิทขึ้น
ส่วนคาริเปอร์มีทั้ง แบบ 2 พอร์ต 4 พอร์ต และ 6 พอร์ต ทำจากอลูมิเนียมอัลลอยผสม น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี ลูกสูบเบรก ใช้แบบน้ำหนักเบา ป้องกันความร้อน ลูกยางเบรกเป็นลูกยางเกรดพิเศษ ทนความร้อนสูง ใช้งานได้กับน้ำมันเบรกเกรดสูงได้เป็นอย่างดีไม่มีบวม
ผ้าเบรกจะใช้เป็นเกรดสูงจำพวก Fully Matallic มีแรงฝืดสูง และทนความร้อนได้กว่า 1,200 องศาเซลเซียส
ดั้งนั้นรถแต่งที่ใช้งานหนัก แรงม้าสูงๆ และใช้งานเบรกอย่างต่อเนื่อง อย่างพวกรถแข่งในสนาม จำเป็นต้องลงทุนคบหากับจานเบรกซิ่งเสียเป็นส่วนใหญ่ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ สูญเสียระยะเบรกน้อย และทำเวลาได้ดีขึ้น
ส่วนจานเบรกที่ใช้กับรถแข่งระดับโลก มักจะนิยมใช้จานเบรกที่ทำจาก วัสดุเซรามิคผสม ทนความร้อนได้กว่า 1,600 องศา และคาริบเปอร์แบบลูกสูบไททาเนียม ซึ่งราคาคงไม่ต้องพูดถึง
การเลือกซื้อ ถ้าเป็นของใหม่เกาะกล่อง แค่กำหนดขนาด ให้ตรงกับรุ่นรถที่เราต้องการเท่านั้น แต่ถ้าเป็นของเก่าเชียงกง ต้องดูที่จานเบรกต้องไม่ไหม้ หรือสึกหรอรุนแรง ผ้าเบรกยังเต็มๆ เพราะถ้าซื้อมาแล้วใช้ได้ไม่นานผ้าหมด ก็เสียเงินเพิ่มอีก หาซื้อผ้าเบรกยากมาก ยิ่งจานหมดด้วยแล้ว ซื้อใหม่ทั้งชุดอาจง่ายเสียกว่า
7. เปลี่ยนน้ำมันเบรกให้ DOT สูงขึ้น
สำหรับน้ำมันเบรก ที่มีค่าทนความร้อนได้สูงขึ้นที่เรียกว่า DOT นั้น มีส่วนป้องกันการเดือดของน้ำมันเบรก น้ำมันเบรกที่เดือดจะเกิดฟองอากาศ ประสิทธิภาพจะลดต่ำลงทันที สำหรับผู้ที่ใช้งานเบรกที่รุนแรงต่อเนื่อง การเปลี่ยนน้ำมันเบรกให้มี DOT สูงขึ้น ช่วยป้องกันการเดือดได้เป็นอย่างดี โดยคำนึงถึงค่า DOT เช่น DOT 3 ทนความร้อนได้ 205 องศา DOT 4 ทนได้ 230 องศา ส่วน DOT 5 ทนได้ 260 องศา การใช้เบรกที่รุนแรงก็ควรเปลี่ยนน้ำมันเบรกให้คุณภาพดีขึ้นด้วย
8. เปลี่ยนสายอ่อนสแตนเลสถัก
สายอ่อนสแตนเลส ภายในมักจะผลิตจาก เทฟล่อนอย่างดีทนความร้อน และการกัดกร่อนได้สูง ภายนอกถักขึ้นรูปด้วยเส้นใยสแตนเลส ป้องกันการขยายตัว และการเสียดสี หัวต่อแบบไฮโดรลิคอย่างดีป้องกันการหลุด หรือแตก
สายอ่อนสแตนเลส มีข้อดีกว่า สายอ่อนแบบยาง ตรงที่ สายอ่อนไม่มีการขยายบวมในขณะที่แรงดันน้ำมันเบรกสูงๆ การบวมตัวของสายอ่อนทำให้แรงดันที่ส่งมายังคาริบเปอร์เบรกลดต่ำลง การเปลี่ยนสายอ่อนสแตนเลส จะช่วยให้แรงดันที่ส่งมายังแม่ปั้มคาริบเปอร์สูงกว่า ออกแรงในการเหยียบเบรกน้อยลง ให้สัมพัสที่เท้าเบรกได้มากกว่า ง่ายต่อการควบคุมจังหวะเบรก
การเลือกซื้อ ถ้าเป็นของใหม่ง่ายๆแค่ซื้อให้ตรงรุ่น ความยาวใกล้เคียงกับของเดิม หัวต่อตรงรุ่น ตรงเกลียวกับรถของเรา ถ้าเป็นของเก่าสภาพต้องไม่มีชำรุด หรือน้ำมันเบรกซึม หรือเก่ามากเกินไป ขยับดูสายต้องไม่แข็ง
การโมดิฟลายระบบเบรกยังมีอีกมาก หลายวิธี แค่ยกตัวอย่างมาให้พอเข้าใจ แต่ที่สำคัญคืออย่ามองข้ามความปรอดภัย อย่างที่ว่า รถยนต์ที่วิ่งด้วยความเร็วสูง ย่อมหยุดยาก ถ้าหยุดไม่ได้แล้ว ย่อมเสียหายมาก ฝากไว้ด้วยครับ
CREDIT บทความโดย : webmaster thaispeedcar.com