ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา/คืนเงินจองรถ/ สคบ.
ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการขอเงินจอง / เงินวางมัดจำซื้อรถยนต์คืน เนื่องจากด้วยสาเหตุหลายประการด้วยกัน ทนายคลายทุกข์จึงนำประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งรายละเอียดของประกาศ มีดังนี้
ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา
เรื่อง ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับมาตรา 3 มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะของสัญญา พ.ศ. 2542 คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาออกประกาศไว้ดังต่อไปนี่
ข้อ 1 ให้ธุรกิจขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา
ข้อ 2 ในประกาศนี้
“ธุรกิจขายรถยนต์ที่มีการจอง” หมายความว่า การประกอบกิจการขายรถยนต์โดยผู้ประกอบธุรกิจนำรถยนต์ออกขายโดยให้ผู้บริโภคทำการจองซื้อ
“สัญญาจองรถยนต์” หมายความว่า ข้อตกลงใด ๆ ที่ผู้บริโภคทำกับผู้ประกอบธุรกิจเพื่อการจองซื้อรถยนต์ โดยผู้ประกอบธุรกิจได้รับเงินหรือได้รับสิ่งใดไว้เป็นมัดจำและให้คำมั่นว่าจะส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคตามเวลาที่กำหนดในสัญญา
“รถยนต์” หมายความว่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลแต่ไม่เกินสิบสองคน และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม ซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
ข้อ 3 สัญญาจองรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน ซึ่งขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร และต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) รายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ ดังนี้
(1.1) ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์
(1.2) รายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมหรือของแถมหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ (ถ้ามี)
(1.3) จำนวนเงิน หรือสิ่งที่รับไว้เป็นมัดจำ (ถ้ามี)
(1.4) ราคา
(2) กำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์
(3) ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(3.1) ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น
(3.2) ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด
(3.3) ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มี ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
(3.4) ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กำหนดในสัญญา
(4) ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์และผู้บริโภคไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาตาม (2)
(5) เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาตาม(3) หรือ (4) แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภค ภายใน 15 วัน
(6) การผิดสัญญาเรื่องใดของผู้บริโภคที่มีผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะต้องเป็นข้อที่ผู้ประกอบธุรกิจระบุไว้เป็นการเฉพาะตัวอักษรที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป
ข้อ 4 ข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือมีความหมายทำนองเดียวกัน ดังต่อไปนี้
(1) ข้อสัญญาที่เป็นการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่เกิดจากการผิดสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจ
(2) ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาการส่งมอบรถยนต์ หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ตามที่กำหนดในสัญญาจองรถยนต์ ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญา
(3) ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจบอกเลิกสัญญากับผู้บริโภค โดยผู้บริโภคโดยผู้บริโภคมิได้ผิดสัญญา หรือผิดเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญข้อใดข้อหนึ่งในสัญญา
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551
ลงชื่อ นายขวัญชัย สันตสว่าง
ประธานกรรมการว่าด้วยสัญญา
***เด๋วเครียดไปกันใหญ่ คงไม่ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
อ่านข้อ3เยอะๆแลัวใช้ดุลยพินิจท่านครับ