ตัวเลข cc-ความจุกระบอกสูบ หรือแรงม้า เป็นค่าที่ผู้ผลิตรถต้องระบุไว้เสมอ ส่งผลให้หลายคนรีบตีความถึงสมรรถนะรถว่า...จะแรงหรืออืด และดูเหมือนว่าตัวเลขแรงม้า-แรงบิดของรถรุ่นใหม่ๆ ในระยะหลัง เพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิมน้อยกว่าช่วง 10 ปีที่แล้ว ที่เพิ่มพรวดพราดเมื่อรถออกรุ่นใหม่
รถรุ่นใหม่ๆจะแรงกว่ารุ่นเดิมเสมอใช่ไหม? และแรงแค่ไหนถึงจะพอ (สำหรับตัวเรา)? ประมาณ 10 ปีที่แล้ว ผมเคยนึกเล่นๆ ว่ารถเก๋งยุคใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์สารพัดเทคโนโลยี จะมีความแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แบบไร้ขีดจำกัด ในพิกัดความจุกระบอกสูบเท่าเดิมหรือไม่? เพราะในช่วงก่อนปี 2000 รถรุ่นใหม่ๆ ที่เปิดตัวหลายยี่ห้อมักแรงขึ้นจากรุ่นเดิมแบบแตกต่างพรวดพราดทั้งทางตัวเลขและสมรรถนะจริงอย่างชัดเจน จากเมื่อ 20 ปี ก่อนที่เครื่องยนต์ของรถแต่ละยี่ห้อมักมีพื้นฐานเดียวกัน แคมชาฟต์เดี่ยว 2 วาวล์ต่อสูบ คาร์บูเรเตอร์ จุดระเบิดด้วยระบบจานจ่าย เครื่องยนต์ในพิกัดความจุ 1600 ซีซี ล้อนมีกำลังแตะๆ 100 แรงม้า พัฒนาต่อเนื่องเป็นทวินแคม 4 วาวล์ต่อสูบ หัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ จุดระเบิดตรง-ไดเร็กคอยล์ แล้วอาจพ่วงด้วยระบบแปรผันวาวล์หรืออีกสารพัดเทคโนโลยี เพิ่มกำลังขึ้นเป็น 100 กว่าแรงม้า หรือแรงจัดอย่างฮอนด้า B18 185แรงม้า หรือนิสสัน SR16 VEN-ONE 200 แรงม้าก็มีใช้ในตลาดรถทั่วไป
แต่ระยะต่อมาโดยเฉพาะหลังปี 2005 กลายเป็นว่ารถเก๋งรุ่นตลาดๆ เช่นเครื่องยนต์ 1600-2000 ซีซี มีกำลังแถวๆ 120-140 แรงม้า เพิ่มขึ้นในรุ่นใหม่บ้าง แต่ไม่ได้พุ่งขึ้นพรวดพราดเหมือนสมัยก่อน และดูเหมือนจะก้าวแบบเอื่อยๆ ด้วยซ้ำ ส่วนรถใหม่รุ่นเล็กหรือใหญ่กว่านั้น หลายรุ่นก็แรงขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้ก้าวกระโดดอีกแล้ว ทำไม? น่าจะเป็นเพราะ 1. แรงเพียงพอระดับหนึ่งแล้ว 2. โลกต้องประหยัดพลังงานและร่วมกันลดมลพิษ
ระยะหลังบริษัทรถล้วนถูกบีบบังคับจากหลายประเทศ ที่บังเอิญพร้อมใจกันออกกฎควบคุมมลพิษสำหรับรถรุ่นใหม่ที่ขายในประเทศของตน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของลูกหลาน พร้อมถูกกดดันจากผู้บริโภคที่พร้อมใจอยากได้ความประหยัด เพราะใครๆก็ทราบว่าราคาน้ำมันดิบที่ลดลงจากใต้โลกน่าจะต้องแพงขึ้นเรื่อยๆ พัฒนาการทางเทคโนโลยียุคใหม่ มีมากมายที่จะเพิ่มความแรงได้โดยไม่ต้องเพิ่มซีซี แต่ถ้าถูกกำหนดว่า...ต้องมีทั้งความประหยัดและไอเสียสกปรกน้อยด้วย จะกลายเป็นเรื่องยากทันที ถ้าจะทำให้เครื่องยนต์แรง แล้วยอมกินน้ำมันมากหน่อย และไอเสียสกปรกมากก็ไม่เป็นไร อย่างนั้นไม่ต้องถึงมือบริษัทรถหรอก ช่างไทยนักโมดิฟายเก่งๆก็ทำได้สบาย แต่เมื่อถูกตีกรอบด้วยหลายเงื่อนไข ทำให้เครื่องยนต์เบนซินในรถเก๋งทั่วๆไป ไม่ได้แรงเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เหมือนยุคเครื่องยนต์ 4 สูบ 6 วาวล์ คาร์บูเรเตอร์ เปลี่ยนเป็น 16 วาวล์ หัวฉีดอีกแล้ว
แต่อีกซีกหนึ่งของโลกเครื่องยนต์กลับไม่เป็นไปตามนั้น!!! เครื่องยนต์ดีเซลล้วนถูกพัฒนาเพิ่มความแรงขึ้นต่อเนื่อง แม้ความจุเท่าเดิมหรือลดลง แต่แรงขึ้นชัดเจน พิกัดความจุ 2200-2500ซีซี กับพลัง 150แรงม้า หรือ 3000-3200ซีซี กับพลัง 170-200 แรงม้า ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะใช้เทอร์โบชาร์จช่วยอัดอากาศด้วยแรงดัน (บูสต์) สูงๆ แรงขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มความจุกระบอกสูบ แล้วก็บังเอิญที่ทำให้แรงพร้อมไอเสียสกปรกน้อยลงได้ เพราะเครื่องยนต์ดีเซลชอบอากาศเยอะๆ ยิ่งเยอะยิ่งมีแนวโน้มเผาไหม้ดี ไอเสียก็ย่อมสกปรกน้อยลง จาก 10 กว่าปีที่แล้ว รถปิกอัพ-ดีเซลไม่มีเทอร์โบกลายเป็นมีเทอร์โบ รุ่นใหม่ๆ เป็นแบบครีบแปรผันบูสต์หนัก พร้อมลดความร้อนไอดีด้วยอินเตอร์คูลเลอร์ ฝาสูบที่เคยทื่อๆ แบบ 2 วาวล์ต่อสูบกลายเป็น 4 วาวล์ต่อสูบ ทวินแคมชาฟต์ (คอมมอนเรล) สารพัดจะสรรค์สร้างความแรงเพิ่มขึ้น พร้อมควบคุมมลพิษได้ดี เพราะการใช้เทอร์โบกับเครื่องยนต์ดีเซลเป็นเรื่องไม่ยาก เนื่องจากพื้นฐานแข็งแรงและการมีอากาศเพิ่มขึ้นมากๆ แม้ใช้ไม่หมด ก็ไม่มีปัญหาส่วนผสมบางเหมือนเครื่องยนต์เบนซิน เครื่องยนต์ดีเซลยุคใหม่กำลังอยู่ในยุคของการก้าวเพิ่มความแรง พิกัด 3000 ซีซี หรือต่ำกว่ากับกำลังระดับ 200 แรงม้า ไม่ใช่เรื่องฝัน
แรงแค่ไหนถึงพอ? ตัวเลขแรงม้าและอัตราเร่งที่ถูกนำเสนอ ทำให้หลายคนเพ่งไปที่สเปกแรงม้า หรือบางคนฟังจากคนอื่นว่าเร่งอืดหรือเร่งดี รวมถึงคิดเองว่าซีซีแค่นี้น่าจะอืด ไม่ใช่ทั้งนั้น!!!!! เพราะความหนักของเท้าขวาและความใจร้อนของแต่ละคนไม่เท่ากัน สไตล์การขับและการเผื่อระยะเร่งแซงล้วนแตกต่างกัน บางคน 200 แรงม้า ก็จะโมดิฟายเพิ่มอีก บางคน 100 แรงม้าแต่ไม่เคยกดเกินครึ่งคันเร่ง หรือบางคนสนใจตอนซื้อว่าต้องแรง แต่ใช้งานจริงกลับขับย่องๆ หากต้องการซื้อรถ หรือจะตัดสินว่ารถรุ่นใดมีอัตราเร่งดีหรืออืด?? ไม่ยาก....ลืมตัวเลขแรงม้าและซีซีชั่วคราว ทดลองขับในลักษณะเดียวกับการใช้งานจริง (ไม่ใช่เร่งสุดเท้าขวาอยู่ตลอด) แล้วตัดสินว่า แรงเกินพอ แรงพอดี หรือแรงไม่พอ
เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ต้องก้าวหน้าและน่าสนใจ แต่การดำรงชีวิตจริง บางเรื่องอาจไม่จำเป็นต้องเห่อหรือไล่ตามเสมอ!!!! แรงแค่ไหน แรงพอไหม?? ง่ายๆ ครับ ทดลองขับ ไม่ต้องเชื่อใคร ไม่ต้องเชื่อสื่อ ไม่ต้องเชื่อเพื่อน หรือเข้าใจง่ายๆว่า แต่ละคนต้องการม้าฝีเท้าจัดไม่เท่ากัน !!!!!วรพล สิงห์เขียวพงษ์ (บอย) บก. นิตยสาร Thai Driver / Option
คัดย่อจากบทความในหนังสือพิมพ์ สยามกีฬา สตาร์ซ็อกเกอร์ ฉบับวันที่ 30พค.2555อ่านแล้ว.....รู้สึกชอบในมุมมองครับ.......ด้วยจิตคารวะ