เรียนรู้ทุกขั้นตอนการใช้ยางให้เหมาะสมกับรถ และดูแลรักษายางรถยนต์ เมื่อไหร่จะถึงเวลาเปลี่ยนยาง โดยปกติ ถ้าหากยางรถยนต์ได้รับการดูแลรักษาและใช้งานอย่างถูกต้อง เราสามารถใช้งานได้จนกระทั่งดอกยางสึกหรอเหลือต่ำสุด 1.6 มิลลิเมตร สามารถสังเกตง่ายๆได้จาก จุดสามเหลี่ยมเล็กๆ 6 จุดบนไหล่ยางแต่ละด้านเมื่อเจอสัญลักษณ์นี้แล้ว ให้มองตรงขึ้นไป ที่หน้ายาง และมองลึกลงไปที่ร่องดอกยาง ก็จะพบสันนูนที่ร่องยาง ซึ่งเรียกว่า สะพานยางและเมื่อไหร่ที่ดอกยางสึก ไปถึงสะพานยาง นั่นแสดงว่ายางหมดอายุการใช้งาน ก็ควรเปลี่ยนยางเส้นใหม่ได้ทันที แต่ถึงแม้ยางไม่หมดอายุแต่เกิดการบวมล่อนขึ้น บริเวณส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ที่หน้ายาง หรือ ไหล่ยาง ก็ควรเปลี่ยนใหม่ทันทีเช่นกัน เพราะหากยังใช้ต่อไป ยางอาจแตกระเบิดได้ หรือถ้าเกิดบาดแผลขึ้น โดยแผลนั้นมีความลึกไปถึงโครงสร้างยางภายใน และมีความกว้างของบาดแผลมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผลบริเวณแก้มยาง ห้ามทำการปะซ่อมและนำมาใช้งานเด็ดขาด ควรเปลี่ยนยางใหม่โดยด่วนทันที
สำหรับท่านที่ต้องการจะทราบถึงอายุการใช้งาน เป็นระยะทางที่วิ่งได้เป็นเลขกิโลเมตรนั้น คงจะไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัด ว่าสมควรเปลี่ยนยางเส้นใหม่หรือยัง เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการ ที่ทำให้เกิดการสึกหรอของดอกยางของผู้ใช้แต่ละคน ที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น การบรรทุกน้ำหนัก ความดันลมยาง ความเร็วในการขับขี่ สภาพผิวถนน อุณหภูมิสภาพอากาศ ระบบช่วงล่างรถยนต์และศูนย์ล้อ รวมไปถึงการหยุดรถและการออกรถ เป็นต้น ทางที่ดีควรหมั่นตรวจสอบสภาพยางรถยนต์ อย่างสม่ำเสมอ จะเป็นการดีกว่า ทั้งนี้ ก็เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณและคนที่คุณรัก
คุณรู้หรือไม่ การถอด?ประกอบล้อกับตัวรถยนต์อย่างถูกวิธีนั้นทำอย่างไร หลายท่านอาจเคยประสบกับปัญหายางแบน หรือยางระเบิดขณะขับขี่อยู่บนถนนมาแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ จะถอดล้อที่มีปัญหาออก และนำยางอะไหล่มาติดตั้งแทนได้อย่างไร เพราะบางครั้งอาจต้องเปลี่ยนในขณะที่มีการจราจรหนาแน่น หรืออาจอยู่ในสภาพที่ไม่สะดวกนัก ทำให้ต้องถอดเปลี่ยนในเวลาอันรวดเร็ว และที่สำคัญต้องปลอดภัย ดังนั้น การลำดับการถอด และประกอบให้ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่รถพึงรู้เป็นอย่างยิ่ง เพราะหากปฏิบัติไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดความเสียหายขึ้น กับกระทะล้อ หรือยาง และอาจนำไปสู่อันตรายกับชีวิตและทรัพย์สินได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะกล่าวถึงการถอด-ประกอบล้อ มีข้อแนะนำเบื้องต้นดังนี้ ขณะขับขี่เมื่อทราบว่า ยางแบน อย่าหยุดรถกระทันหัน ให้ขับช้าๆ อย่างระมัดระวังไปยังที่ที่ปลอดภัยและใกล้ที่สุดที่จะไม่กีดขวางรถคันอื่นและมีพื้นที่ที่จะถอดประกอบล้อได้ แล้วจึงดับเครื่อง ใส่เบรกมือ
สำหรับการถอดล้อออกจากตัวรถที่ถูกต้อง ควรกระทำดังนี้
การถอดล้อ กรณีที่มีฝาครอบล้อ ให้ใช้ไขควงปากแบนงัดฝาครอบล้อออกก่อน จากนั้นเริ่มถอดน็อตล้อ โดยใช้ประแจ คลายน็อต แต่ละตัวให้พอหลวมเล็กน้อย ก่อนที่จะยกรถขึ้นด้วยแม่แรง การขึ้นแม่แรง ให้ยกเพียงแค่ให้ล้อพ้นจากพื้นพอสมควร ไม่ควรยกแม่แรง สูงเกินไป เพราะอาจจะเกิดอันตรายได้ หลังจากถอดน็อต ควรเก็บน็อตที่ถอดออกแล้ว รวมไว้ด้วยกันเพื่อไม่ให้น็อตหาย หลังจากนั้น ให้ถอดล้อออกจากดุมล้อ โดยควรจะออกแรงยกล้อในขณะที่ดึงออก เพื่อป้องกันไม่ให้กระทะล้อกระแทกกับจานเบรค
เมื่อทำการถอดล้อออกจากตัวรถยนต์แล้ว การนำยางอะไหล่ประกอบเข้ากับตัวรถอย่างถูกวิธี ควรกระทำดังนี้
การประกอบล้อ เริ่มจากยกวงล้อประกอบเข้ากับดุมล้อ โดยเล็งรูน็อตที่กระทะล้อให้ตรง กับดุมล้อ ดันล้อเข้าไปในดุมล้อให้แนบสนิท แล้วใช้มือหมุนน็อตล้อทุกตัว ให้เข้าไปจนสุด เพื่อไม่ให้ล้อเกิดอาการโคลงเคลง จากนั้นจึงใช้ประแจขันน็อตให้แน่นอีกครั้ง โดยให้ ทำการขันในตำแหน่งตรงกันข้ามของน็อต สลับกันไปจนครบทุกตัว อย่าใช้ประแจขัน ก่อนที่จะใช้มือใส่น็อตเข้าที่อย่างถูกต้อง เพราะการใช้ประแจขันจนแน่น โดยที่น็อตยังไม่เข้าที่ อาจทำให้เกลียวของน็อตและดุมล้อเสียหายได้ นอกจากนี้ การขันแน่นเกินไป แม้ว่าจะใส่น็อตเข้าที่แล้ว ก็อาจทำให้เกิดความเสียหายในทำนองเดียวกัน หรืออาจทำให้การคลายน็อตครั้งหน้าทำได้ยาก ส่วนการขันน็อตที่ไม่แน่นพอ อาจทำให้น็อตล้อเคลื่อนในขณะรถวิ่ง ทำให้เกิดอาการสั่นของรถได้ หรืออาจร้ายแรง จนถึงขั้น ทำให้ล้อหลุดได้ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขันน็อตด้วยความระมัดระวังให้แน่นอย่างเหมาะสม
สำหรับกรณีที่มีฝาครอบล้อ เมื่อถอดและประกอบล้อแล้ว ให้ใส่ฝาครอบล้อให้เข้าที่และใส่ให้แน่นพอเช่นกัน มิฉะนั้น ฝาครอบล้อ อาจหลุดหาย หรืออาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุเป็นอันตรายกับผู้ใช้รถใช้ถนนได้
เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ในตอนนี้จะได้ยกตัวอย่างถึงวิธีการประกอบล้ออย่างถูกวิธี ดังนี้
ตัวอย่างในการประกอบล้อ เริ่มจากจุดที่ 1 จุดถัดไปคือตำแหน่งตรงกันข้ามกับจุดแรก นั่นคือ จุดที่ 2 และสลับกันไปจนครบทุกตัว การขันน็อตในลักษณะนี้ ทำให้หน้าแปลนแนบสนิทกับดุมล้อมากที่สุด ซึ่งหากหน้าแปลน ไม่แนบสนิทกับดุมล้อ อาจทำให้ กระทะล้อบิดเยื้องศูนย์กับดุมล้อ และทำให้ล้อเกิดอาการ เต้นสั่น หรือเกิดการสึก ไม่เรียบของดอกยางได้
การดูแลรักษายางรถ อาการสั่นที่ล้อแก้ไขได้อย่างไร ผู้ใช้รถอาจเคยเจอปัญหาอาการสั่นที่ล้อเมื่อรถวิ่งที่ความเร็วระดับหนึ่ง แต่ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร และจะสามารถแก้ไข ได้อย่างไร
อาการสั่นที่ล้อนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การถ่วงล้อไม่ดี กระทะล้อคดงอ เป็นต้น ซึ่งมีวิธีแก้ไขอาการสั่นดังกล่าว โดยนำรถไปถ่วงล้อเสียใหม่ ไม่ว่าจะถ่วงด้วยวิธีทั่วไป หรือจะถ่วงแบบที่เรียกว่า ?ถ่วงจี้? คือ ถ่วงล้อโดยที่ ไม่ต้องถอดล้อ ออกมาจากรถ โดยก่อนที่จะทำการถ่วงล้อนั้น ควรที่จะดูว่ามีคราบโคลน หรือเศษหินติดอยู่ในร่องยางหรือไม่ หากมีก้อนดิน ก้อนหินติดอยู่ ก็ต้องทำความสะอาดเสียก่อน มิฉะนั้นดินและหินเหล่านั้น จะกลายมาเป็นน้ำหนักถ่วงหลอกเอาได้ อาการคดงอ ของกระทะล้อ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดอาการสั่นขณะวิ่งได้ หรือแม้แต่เรื่องของระบบช่วงล่าง ก็ต้องได้รับการตรวจสอบ ว่ายังแน่นดีอยู่ตามสเปคหรือไม่
ดังนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าของรถที่มีอาการสั่นเกิดขึ้นที่ล้อ ต้องค่อยๆ ลองหาสาเหตุและทำการแก้ไข เมื่อแก้ไขถูกต้องแล้ว อาการสั่นก็จะหายไปเอง
รู้จักกับลมยาง โดยปกติลมยางที่ใช้เติมยางรถยนต์ ก็คือ อากาศที่มีอยู่ทั่วๆ ไป ซึ่งมีส่วนผสมของก๊าซต่างๆ มากมายโดยเฉพาะก๊าซออกซิเจน และ ไอน้ำปะปนอยู่ เมื่อขับรถด้วยความเร็วสูงเป็นระยะทางไกลๆ ยางรถยนต์จะเกิดความร้อนสะสมภายในยางสูงทำให้อากาศภายในยาง ขยายตัว ส่งผลให้ความดันลมยางเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ยางเกิดการระเบิดได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ ลมยางอ่อนกว่ามาตรฐาน ก็จะเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ยางร้อนได้ง่าย ดังนั้น ในการขับขี่ทางไกล จึงควรเพิ่มความดันลมยางประมาณ 3-5 ปอนด์/ตารางนิ้วในทุกๆ ตำแหน่งล้อเพื่อช่วยลดการบิดตัวของยาง ทำให้เกิดความร้อนในยางน้อยลง ในขณะขับขี่หากแต่ในกรณีที่ต้อง ขับขี่ในสภาพถนนที่ขรุขระมากๆ มีก้อนหิน ลูกรัง การลดความดันลมยางลงเล็กน้อย (ในขณะที่ยางยังเย็นอยู่) จะทำให้ขับขี่ได้นุ่มนวล ขึ้น และลดการกระแทกจากพื้นผิวถนนที่ขรุขระได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับมาวิ่งบนถนนเรียบทั่วไปก็ควรเติมลมยางให้ได้ มาตรฐานดังเดิม
นอกจากนี้ เมื่อมีการเติมลมยางจะมีไอน้ำปะปนและลอยตัวอยู่กับอากาศภายในยางรถยนต์เมื่อมีการใช้งานไอน้ำในลมยางจะระเหยไป บางส่วนจากความร้อนที่เกิดขึ้นจากการบิดตัวของยาง เมื่อเราจอดรถความดันลมยางจะค่อยๆ ปรับลดลงมาสู่ระดับเดิม และลมภายใน ยางจะเย็นตัวลงไอน้ำที่ปะปนอยู่ในอากาศก็จะกลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำอยู่ภายในยางรถยนต์ อาจทำให้กระทะล้อเกิดสนิมได้ซึ่งการ เปลี่ยนกระทะล้อเป็นล้ออัลลอยก็เป็นอีกวิธีที่สามารถป้องกันการเกิดสนิมได้เป็นอย่างดี
การเติมลมยางที่ถูกต้องนั้นทำได้อย่างไร ลมยางจัดว่าเป็นหัวใจสำคัญของยางรถยนต์ เพราะถ้าไม่มีลมยาง ยางรถยนต์ก็ไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งการเติมลมยาง และวิธีการดูแลลมยาง มีดังนี้
1. ตรวจเช็คลมยางเป็นประจำและปรับแต่งให้ถูกต้องตามคำแนะนำในคู่มือประจำรถอย่างน้อยเดือนละครั้ง ในขณะที่ยางยังเย็นอยู่
2. ถ้าเป็นยางใหม่ ในช่วง 3,000 กิโลเมตรแรกควรเพิ่มความถี่ในการตรวจเช็คลมยางให้มากกว่าปกติ เพราะโครงยางใหม่ จะมีการขยายตัวเพื่อปรับสภาพ ทำให้ความดันลมยางลดลงจากปกติได้
3. ห้ามปล่อยลมยางออกเมื่อความดันลมยางสูงขึ้นเนื่องจากความร้อนจากการใช้งาน เพราะเมื่อยางเย็นตัวลง ความดันลมยาง ก็จะกลับสู่สภาวะปกติเอง
4. ควรเปลี่ยนวาล์วและแกนวาล์วทุกครั้งที่เปลี่ยนยางใหม่ เพื่อป้องกันลมรั่วซึมที่วาล์ว
5. ตรวจเช็คและเติมลมยางอะไหล่ทุกๆ เดือน
6. ในกรณีขับรถด้วยความเร็วสูง ให้เติมลมยางให้มากกว่าปกติ 3 ถึง 5 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เพื่อลดการบิดตัวของโครงยาง
จะเห็นได้ว่าวิธีทั้งหมดนี้เป็นวิธีง่ายๆ และไม่เสียเวลามากนัก ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยและใช้ยางได้อย่างคุ้มค่า โปรดอย่ามองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้
การสึกหรอผิดปกติจากการเติมลมยางไม่ถูกต้อง การเติมลมยางที่ไม่ถูกต้องนั้น อาจส่งผลถึงการสึกที่ผิดปกติกับยางรถยนต์ของคุณได้ ซึ่งแน่นอนจะส่งผลถึงความปลอดภัย ในการขับขี่รถด้วย ทั้งนี้ การสึกผิดปกติของยางมีลักษณะต่างๆ ดังนี้
1. การสึกบริเวณกลางหน้ายาง เกิดจากการเติมลมยางที่มากเกินไป
2. การสึกบริเวณไหล่ยางทั้ง 2 ด้าน เกิดจากการเติมลมยางน้อยเกินไป หรือลมยางอ่อน
3. การสึกบริเวณไหล่ยางข้างเดียว เกิดจากการไม่ได้สลับยางตามเวลาที่สมควร
ดังนั้น จึงควรเติมลมยางให้พอดี และสลับยางเป็นประจำทุกๆ 10,000 กิโลเมตรสำหรับยางเรเดียล และทุกๆ 5,000 กิโลเมตร สำหรับยางธรรมดา เพื่อป้องกันการสึกผิดปกติและยืดอายุการใช้งาน
ที่มาข้อมูล: www.bridgestone.co.th